วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552

รีเลย์(RELAY)ในรถยนต์

รีเลย์เป็นอุปกรณ์ในระบบไฟฟ้ารถยนต์ทำหน้าที่คล้ายสวิตช์ ควบคุมการทำงานโดยสวิตช์หรือตัวเซ็นเซอร์ ภายในตัวรีเลย์ประกอบด้วยชุดหน้าสัมผัสและขดลวด(ทำหน้าที่แม่เหล็กไฟฟ้า)

หลักการทำงานของรีเลย์คือ เมื่อมีกระแสไฟไหลผ่านขดลวดลงกราวน์ก็จะเกิดอำนาจแม่เหล็กดูดให้หน้าสัมผัสติดกัน กระแสไฟจากแหล่งจ่ายจึงไหลผ่านหน้าสัมผัสไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าได้




ประโยชน์ของรีเลย์ในการทำหน้าที่แทนสวิตช์คือ ช่วยให้อายุการใช้งานของตัวสวิตช์เองนานขึ้น โดยกระแสไฟจะไหลผ่านหน้าสัมผัสของรึเลย์แทน ส่วนสวิตช์ทำหน้าที่เพียงแค่จ่ายกระแสไฟจำนวนเล็กน้อยไปยังขดลวดของรีเลย์เท่านั้น (เพราะทุกครั้งที่เปิดสวิตช์จะเกิดการอาร์คที่หน้าสัมผัส ทำให้หน้าสัมผัสค่อยๆเสื่อมลงและเสียในที่สุด ซึ่งความเสียหายนี้จะเกิดกับรีเลย์แทน)


รีเลย์ที่ใช้ในรถยนต์มีหลายชนิด

1.รีเลย์ 3 ขา ใช้กับระบบไฟหน้าและระบบแตร รีเลย์แตรจะมี่ตัวอักษรกำกับที่แต่ละขาดังนี้ B (ต่อไปยังแหล่งจ่ายไฟหรือแบตเตอรี่) H (ต่อไปที่แตร) และ S (ต่อไปที่สวิตช์แตร)โดยขา B ทำหน้าที่รับกระแสไฟจากแหล่งจ่ายและจ่ายกระแสไฟผ่านขดลวดในเวลาเดียวกัน





2.รีเลย์ 4 ขา มีขาของขดลวด 1คู่ และขาของชุดหน้าสัมผัส 1คู่

3.รีเลย์ 5 ขา โดยมากเป็นรีเลย์ที่ติดตั้งเพิ่มเติมทีหลัง ส่วนมากที่เห็นกันคือของ BOSCH เลข 85และ 86 เป็นขาของขดลวด(ไฟเข้าขาหนึ่งลงกราวน์ขาหนึ่ง) เลข 30 ต่อกับแหล่งจ่ายไฟ เลข 87 มี 2 ขาต่อไปอุปกรณ์ ถ้าต่ออุปกรณ์ตัวเดียวใช้ขา 87 ขาไหนก็ได้

4.รีเลย์ 5 ขาเหมือนกัน แต่การทำงานไม่เหมือนกัน รีเลย์ชนิดนี้พบในระบบควบคุมโช๊คไฟฟ้าของคาร์บูเรเตอร์และระบบควบคุมพัดลมไฟฟ้า ถ้าเป็นรีเลย์ที่ซื้อมาติดตั้งเองที่ตัวรีเลย์จะมีตัวอักษรกำกับที่แต่ละขาคือ COIL COIL COM NC NO หรือตัวเลข 85 86 30 87a 87 ขา COIL ทั้ง 2 ขาหรือขา 85 86 เป็นขาของขดลวด ขา COM หรือขา 30 จะต่ออยู่กับ ขา NC หรือขา 87a ขณะที่ยังไม่มีกระแสไฟไหลผ่านขดลวดลงกราวน์ แต่เมื่อมีกระแสไฟไหลผ่านขดลวดลงกราวน์ ขา COM หรือขา 30 จะต่อกับขา NO หรือขา 87 แทน

5.รีเลย์ 6 ขาใช้ในระบบแอร์ เหมือนรีเลย์ 4 ขาเพียงแต่มีขาของชุดหน้าสัมผัสอีกชูดหนึ่งเพิ่มขึ้นมาอีก 1 คู่